พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปีการศึกษา 2565 ระหว่างวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2567ณ หอประชุมมหาราช อาคารองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร รองศาสตราจารย์ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร และนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เฝ้ารับเสด็จฯ ณ อาคารองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร
ในการนี้ ทรงพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2566 จากมหาวิทยาลัยนเรศวรแก่ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี และศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ทั้งนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก โท และตรี เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันแรก คือ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวนทั้งสิ้น 2,455 คน จาก 1 วิทยาลัย 7 คณะ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะมนุษยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาทความตอนหนึ่งว่า
“บัณฑิตเมื่อสำเร็จการศึกษา ออกไปฏิบัติงานในสังคม ย่อมปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะช่วยให้คนเราประสบความสำเร็จได้ดังหวังตั้งใจนั้น ก็คือ การรู้จักจัดสรรเวลาให้ได้ประโยชน์ คนเราทุกคนมีเวลาในแต่ละวันเท่ากัน แต่จะใช้เวลาให้มีประโยชน์คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลาของแต่ละคน ผู้ที่ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของเวลา มักจะไม่เร่งทำสิ่งสำคัญตามหน้าที่ของตนให้ลุล่วง แต่จะผัดวันประกันพรุ่ง จนเกิดความผิดพลาดเสียหาย ตรงข้าม ผู้ที่เห็นคุณค่าของเวลา ไม่ว่าจะมีเวลามากหรือน้อยเพียงใด ก็จะจัดสรรเวลาที่มีอยู่ ทำภารกิจทุกอย่างในหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้งานที่ทำสำเร็จผลเป็นประโยชน์ อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในหน้าที่การงานดังตั้งใจมุ่งหมาย ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เห็นความสำคัญของเวลา และสามารถจัดสรรเวลาได้ดี จึงเป็นผู้ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ มากกว่าผู้ที่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ หากบัณฑิตทุกคนนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาให้เห็นจริง ก็เชื่อว่าจะสามารถประกอบกิจการงานให้บรรลุถึงความสำเร็จและความเจริญได้อย่างแน่นอน”