สังคมผู้ประกอบการ (entrepreneurial society) คืออะไร
สังคมผู้ประกอบการคือสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐานในการสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (knowledge-based entrepreneurship)
ใครคือผู้ประกอบการ (entrepreneur)
ผู้ประกอบการหมายถึงผู้ที่เริ่มหรือเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตรกรรม การค้าปลีก การผลิต หรือการบริการ ผู้ประกอบการจะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ประดิษฐ์คิดค้นสินค้าและบริการ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และมักจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยสร้างตลาดใหม่ การจ้างงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยขยายฐานภาษีของประเทศ ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณไปใช้จ่ายในโครงการสาธารณะของประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยนวัตกรรม เป็นการทำลายและลดการพึ่งพาแบบแผน วิธีการ และระบบที่มีมาแต่ดั้งเดิม หรือระบบธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่
ทำไมต้องเป็นสังคมผู้ประกอบการ
เพราะความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เป็นเสมือนเครื่องยนต์ที่ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มพูนศักยภาพการผลิต สร้างการจ้างงาน และการแข่งขันในตลาดโลก สังคมที่อุดมความรู้จะก่อให้เกิดโอกาสเพื่อการประกอบการมากกว่าสังคมที่ขาดแคลนองค์ความรู้
.
บทบาทของมหาวิทยาลัยในการสร้างสังคมผู้ประกอบการ
เนื่องจากนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่เป็นหัวใจที่จะเอื้อให้เกิดสังคมผู้ประกอบการ ประเทศที่สามารถพลิกโฉมและพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดดล้วนมีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยนเรศวรในฐานะสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research University) จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมผู้ประกอบการ (University for an Entrepreneurial Society) ที่จะมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อการประกอบการ (Entrepreneurial ecosystems) โดย
- สร้างสังคมอุดมความรู้ (knowledge-based society) โดยการสร้างองค์ความรู้ด้วยกระบวนการวิจัย
- สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต้นแบบและงานวิจัยที่สามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และถ่ายทอดความรู้ นวัตกรรม ผลการวิจัย และเทคโนโลยีสู่สังคมผ่านการบริการทางวิชาการ เพื่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
- สร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีชุดความคิดเชิงประกอบการ (entrepreneurial mindset) เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมผู้ประกอบการ โดยผ่านรายวิชาต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมเกื้อหนุนให้นิสิตเกิดชุดความคิดแบบผู้ประกอบการ ได้แก่ มองเห็นและแสวงหาโอกาส (opportunity recognition) กล้าเสี่ยง (comfort with risk) มีความคิดสร้างสรรรค์และสร้างนวัตกรรม (creativity and innovation) มองโลกในแง่บวกมุ่งมองอนาคต (future orientation) มีความคิดเชิงวิพากษ์และทักษะการแก้ปัญหา (critical thinking and problem solving) สื่อสารได้ดีและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ (communication and collaboration) มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ดี (flexibility and adaptability) และมีความคิดริเริ่มและพึ่งพาตนเอง (initiative and self-reliance)